เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

เบื้องหน้าเบื้องหลังของเว็บไซต์ www.Hatyaicityclimate.org

by punyha @23 ธ.ค. 65 12:45 ( IP : 171...115 ) | Tags : ข่าวสารประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1080x810 pixel , 113,472 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 78,879 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 124,661 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 93,934 bytes.

ขออนุญาตเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของเว็บไซต์ www.Hatyaicityclimate.org

www.Hatyaicityclimate.org ดำเนินการโดยมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(SCCCRN) ต่อเนื่องมาจากการทำงานโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ACCCRN) ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ ทน.หาดใหญ่ คลองแห คอหงส์ พะตง ม.อ. มทร.ศรีวิชัย ปภ.จังหวัด สสจ. โยธาธิการและผังเมือง ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก สำนักงานชลประทาน สนง.ทรัพยากรน้ำที่ 8 มูลนิธิชุมชนสงขลา เป็นต้น โดยมีดร.สมพร สิริโปราณานนท์ จากหอการค้ามาเป็นประธานคณะทำงาน


จุดเริ่มเพื่อหาพื้นที่เมืองรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหาดใหญ่ เลือกทำเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องหลัก


จุดประสงค์สำคัญ เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ปกติหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ คนหาดใหญ่จะคุ้นชินกับการดูระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา ภาพจำของคนหาดใหญ่จึงผูกติดความเชื่อว่าน้ำท่วม น้ำจะเอ่อล้นจากคลองเข้าท่วมเมือง คณะทำงานจึงนำกล้อง cctv ไปจับภาพ ณ จุดสำคัญของคลองตั้งแต่ต้นน้ำ(ม่วงก็อง) มาถึงกลางน้ำ(บางศาลา) มาถึงที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ และติดตั้งไปถึงระบบคลองสาขาที่มีผลต่อการเกิดน้ำท่วมเล็กในจุดสำคัญอื่นๆด้วย อาทิ คลอง 30 เมตร คลองหวะ ในอดีตก็มีกล้องที่คลองเรียน/คลอง ร.1 ตลาดกิมหยง แหลมโพธ์ และที่อื่นๆที่มิได้อยู่ในพื้นที่ทน.หาดใหญ่ เช่น พะตง(คลองตง)


นอกจากนั้นยังร่วมมือกับศูนย์อุตุฯ นำข้อมูลสำคัญ เช่น ภาพเรดาห์สทิงพระ ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลฝนตามสถานีออนไลน์ ภาพกล้อง cctv จากชลประทาน(คลองหวะ) สนง.ทรัพยากรน้ำที่ 8(สะพานข้างอำเภอหาดใหญ่) ทำสื่อ ชุดความรู้ เปิดเพจ และแอพพลิเคชั่น city climate ไว้รองรับการเตือนภัยด้วยตนเองให้กับประชาชน


และยังได้จัดทำแผนรับมืออุทกภัยระดับชุมชน ร่วมกับกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนรับมือระดับลุ่มน้ำไว้อีก 5 ลุ่มน้ำเมื่อราวปี 2557 อีกด้วย


ด้วยข้อจำกัดและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ คณะทำงานเลือกที่จะใช้มูลนิธิเป็นองค์กรรับผิดชอบหลัก แทนที่จะส่งมอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมิอาจตอบสนองการบริหารจัดการในรูปแบบเดิมที่มีการเชื่อมโยงข้ามองค์กร ข้ามพื้นที่ การทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างของระบบราชการ แต่ก็ต้องรับข้อจำกัดด้านงบประมาณตามมาด้วย


ทั้งค่าเช่า server กล้อง cctv ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟ ผู้บริหารมูลนิธิฯรวมถึงภาคเอกชนหลายแห่งร่วมสนับสนุน


ทั้งนี้หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในเรื่องเว็บไซค์ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน คือ คุณภูเบศร์ แซ่ฉิน คุณภาณุมาศ นนทพันธ์ โปรแกรมเมอร์


เท่ากับว่าเว็บไซต์นี้ดำเนินการโดยภาคประชาชน มิใช่ของเทศบาลนครหาดใหญ่หรือหน่วยงานใด เพื่อมิให้มีข้อจำกัดในการพึ่งระบบบริหารของรัฐ จำเป็นต้องยกให้เป็นของคนหาดใหญ่มีส่วนร่วม มีแต่วิธีเช่นนี้จึงจะทำให้เมืองมีตัวช่วย ประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าของ


ทำไปแก้ปัญหาไป โดยเฉพาะช่วงเวลาวิกฤตคนเข้าดูพร้อมกันเรือนหมื่น ทำให้เกิดติดขัด ล่าช้า หน่วงเป็นระยะ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาต่อไป


ล่าสุดคนเข้าเว็บ Yesterday (22-12-65)  69,043 persons 273,912 views.

ตัวเลขรวมตั้งแต่ดำเนินการมาเมื่อปี 2554 total view 11,459,348 persons 41,394,747 views