เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

"บทเรียนจากน้ำท่วมระลอกแรกของปี 2563"

by punyha @4 ธ.ค. 63 11:14 ( IP : 171...9 ) | Tags : ข่าวสารประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1080x488 pixel , 27,331 bytes.
  • photo  , 640x1315 pixel , 104,957 bytes.
  • photo  , 720x960 pixel , 67,457 bytes.

"บทเรียนจากน้ำท่วมระลอกแรกของปี"

๑.ปีนี้น้ำท่วมเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่มีปริมาณฝนจำนวนมากตกอย่างต่อเนื่อง ระดับ 200-300 มม. ปริมาณน้ำที่มากผิดปกติไม่ได้อยู่ในประสบการณ์การรับรู้ พื้นที่ต่ำหลายแห่งวนซ้ำหลายรอบ

๒.เขตเมืองจะมีน้ำท่วมขังจากระบบระบายน้ำที่รองรับไม่ไหว ขยะอุดตัน ท่อขี่กันไปมา หลายมาตรฐาน พื้นที่ต่ำหรือโซนต้นน้ำในจุดที่ฝนตกจะท่วมก่อนคนอื่น

๓.ข่าวสารมาหลายทาง ทั้งการเตือนจากศูนย์อุตุฯ(แต่ละแห่งหนักเบา ไม่เท่ากัน) ยังไม่ได้รับความสนใจ การมีแอพฯจากเอกชน และอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ย่อยให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่อธิบายเชื่อมโยง มีแต่ภาพ ส่งต่อกัน สะท้อนว่าการรับรู้ของเรายังผ่านการมองเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าการสังเคราะห์ และขาดการอธิบายพื้นฐาน ทำให้มี data มากก็จริงแต่ไม่มีพลังในการทำงาน

๔.ปัญหาใหญ่ของระบบ ที่ขาดการเชื่อมโยงกัน จากน้ำบนฟ้าลงสู่ต้นน้ำ ลำคลอง ไหลสู่เมือง ชุมชน บ้านเรือน ปริมาณน้ำกับพื้นที่รับน้ำและระดับความเร็ว การเคลื่อนตัว รวมไปถึงระดับความสูงของน้ำเมื่อท่วมขังในเชิงพื้นที่ ยังเป็นปัญหาหลักคือไม่สามารถระบุได้ชัดเจน รวดเร็ว จังหวัดใหญ่ๆทั้งมีและไม่มีหน่วยงานกลางที่จะประเมินสถานการณ์และสื่อสารล่วงหน้าอย่างมีพลัง ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถถ่ายทอดไปสู่สังคม รับรู้จำกัดในแวดวงเฉพาะ สะท้อนช่องว่างข้อมูล ข่าวสาร กลไกแต่ละระดับกระจุกตัว ไม่มีส่วนร่วม ไม่เกิดการสื่อสารสาธารณะที่ครอบคลุม กระจายไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องตามสภาพสังคมที่แตกกระจายเป็นเสี้ยวส่วน

๕.ที่สำคัญที่สุด แนวคิดการแก้ปัญหา ไม่สมบูรณ์ หน่วยงานต่างๆเชื่อถือการใช้โครงสร้างแข็งเชิงวิศวกรรมในการแก้ปัญหาเป็นหลัก(วิศวะครองเมือง) มีคลองระบายน้ำบ้าง ผันน้ำบ้าง โดยลืมไปว่าปริมาณน้ำฝนแต่ละครั้งที่ตกลงมาไม่สามารถระบุความแน่นอนได้ หากมีฝนมากกว่าพื้นที่รับน้ำ การระบายน้ำต่อให้มีโครงสร้างรองรับแค่ไหนน้ำก็ท่วมอยู่ดี ขณะที่มีการพัฒนา ถมที่ จุดรับน้ำน้อยลงไปทุกทีอีกด้วย ผังเมืองไม่ได้มีไว้แก้ปัญหาน้ำท่วม คิดแค่มิติการพัฒนา ชุมชนก็มีทั้งแบบรอหน่วยงานมาช่วย และคิดแบบจัดการตนเองเมื่อเจอน้ำใหญ่ระดับภูมินิเวศ เกินศักยภาพจะรับมือได้ และระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีจะใช้เทคโนโลยีช่วยลำพังอย่างเดียวก็ไม่ได้ ยังจะต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนไปด้วย(ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา เส้นทางน้ำ ผังน้ำ ระบบเมือง/โครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ) ความรู้ ความเข้าใจต่อปัญหาจะช่วยลดความสูญเสียได้ บวกกับระบบทีมระดับจังหวัดที่ประกอบส่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประเมินสถานการณ์ร่วมกันแล้วสื่อสารอย่างมีเอกภาพ มีช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย กระจายไปให้ครอบคลุม

ยังต้องทำกันต่อไป

คณะทำงานมูลนิธิ SCCCRN  บันทึก

ขอบคุณภาพจากสมาชิก Facebook