เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

รังสีคอสมิกทำให้มีเมฆมากขึ้น ช่วยลดภาวะโลกร้อน

by Little Bear @20 พ.ค. 55 12:46 ( IP : 122...178 ) | Tags : ความรู้

อาจจะฟังดูไม่ค่อยเกี่ยวกันสักเท่าไรว่ารังสีคอสมิกที่มาจากอวกาศจะมาช่วยลดผลของภาวะโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและปริมาณรังสีคอสมิกที่พุ่งเข้าชนโลกมาตั้งหลายปีแล้ว และการทดลองในปี 2011 จาก CERN เผยให้เห็นว่ารังสีคอสมิกอาจมีผลต่อการก่อตัวของเมฆและรบกวนสภาพภูมิอากาศของโลก

ผลจากการจำลองยิงโปรตอนเข้าไปชนกับก๊าซของบรรยากาศในห้องทดลอง Cosmics Leaving OUtdoor Droplets (CLOUD) ที่ CERN นักวิทยาศาสตร์พบว่าอนุภาคพลังงานสูงแบบที่พบได้ทั่วไปรังสีคอสมิกทำให้เกิดอนุภาค “แอโรซอล” ขึ้นในบรรยากาศได้มากกว่าปกติ 10 เท่า อนุภาคเหล่านี้เกิดจากการแตกตัวทำปฏิกิริยาของสารเคมีในบรรยากาศ เช่น กรดซัลฟูริก แอมโมเนีย และสารประกอบอื่นๆ เป็นต้น

แอโรซอลจะทำหน้าที่เป็นเหมือนเมล็ดแกน (seed) ให้ไอน้ำในบรรยากาศมาเกาะและควบแน่นเป็นหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็ง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็คือส่วนประกอบของก้อนเมฆนั่นเอง

ยิ่งมีเมฆมาก อุณหภูมิก็ยิ่งลดต่ำลง เพราะปริมาณเมฆที่ก่อตัวมากขึ้นจากรังสีคอสมิกจะช่วยบังแสงแดดที่ส่องลงมายังพื้นผิวโลก

จากข่าวเก่า เรารู้กันแล้วว่ารังสีคอสมิกส่วนใหญ่โดนชนและสะท้อนด้วยอนุภาคที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยออกมา ตั้งแต่ปี 1990 ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงของวัฏจักรที่ปลดปล่อยอนุภาคออกมาค่อนข้างมาก อนุภาคจากดวงอาทิตย์ทำให้มีรังสีคอสมิกพุ่งเข้าถึงโลกน้อยลง แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอีกไม่นานดวงอาทิตย์กลับเข้าสู่ช่วงที่ไม่ค่อยปลดปล่อยอนุภาคออกมาเท่าไร ถึงเวลานั้นโลกของเราก็จะได้รับรังสีคอสมิกมากขึ้น ถ้าหากโชคดี ก็เป็นไปได้ว่ารังสีคอสมิกอาจจะมาช่วยบรรเทาผลที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไปได้สักส่วนหนึ่ง

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature doi:10.1038/nature10343

ที่มา - Nature News ผ่านทาง JuSci

Relate topics